- Crypto Wallets คือ กระเป๋าเก็บสกุลเงินดิจิตอล หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า คริปโตเคอเรนซี่ ซึ่ง Crypto Wallets มีหน้าที่คล้ายกับกระเป๋าเงินในชีวิตจริงเพียงแต่เปลี่ยนจากเก็บธนบัตร เป็นเก็บสกุลเงินในโลกดิจิตอลแทน แต่นั่นไม่ใช่หน้าที่ทั้งหมดของ Crypto Wallets เพราะมันสามารถทำในสิ่งที่กระเป๋าเงินปกติทำไม่ได้ เช่น เก็บรูปภาพ NFT หรือแม้แต่ล็อครหัสผ่านเมื่อเปิด ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Crypto Wallets เท่านั้น ถ้าคุณอยากเป็นนักลงทุนในโลกคริปโต หัวข้อ Crypto Wallets คือสิ่งที่คุณต้องรู้เป็นอันดับแรก เพราะมันเปรียบเสมือนตู้เซฟสำคัญของคุณ ซึ่งในบทความนี้ผมจะบอกทุกเรื่องที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับ Crypto Wallets ครบจบในที่เดียว
สวัสดีนักลงทุนคริปโต หรือผู้ที่กำลังเริ่มจะเข้าสู่วงการคริปโตทุกท่าน อย่างที่เรารู้กันดีว่าโลกของคริปโตเคอเรนซี่ มีโอกาสใหม่ ๆ อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีในอนาคต หรือสกุลเงินที่มูลค่ามากกว่าทอง ซึ่งในโลกความเป็นจริงหากคุณต้องการเก็บทองมูลค่าหลักล้านไว้ที่บ้าน คงต้องมีตู้เซฟ และพื้นที่ในการจัดเก็บพอสมควร แต่รู้มั้ยครับว่าในโลกของคริปโต คุณสามารถเก็บมันไว้ได้โดยไม่ต้องใช้พื้นที่แม้แต่ 1 เซนติเมตร ซึ่งที่ทำได้ก็เพราะ Crypto Wallets และต่อไปนี้ผมจะพาทุกท่านไปดูกันว่า Crypto Wallets คืออะไร ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันครับ
Crypto Wallets คืออะไร?
- Crypto Wallets คือ กระเป๋าเงินที่เอาไว้เก็บสกุลเงินดิจิตอล และทรัพย์สินอื่น ๆ ของคุณในบล็อคเชน เช่น NFT โดย Crypto Wallets ที่คุณสร้างจะมีรหัสเป็นคำสุ่มขึ้นมา มีจำนวนคำตั้งแต่ 12 -24 คำ ซึ่งเราเรียกกันว่า Seed Phrase และ Seed Phrase นี่แหละที่เป็นตัวแสดงว่าคุณคือเจ้าของ Crypto Wallets เพราะ Seed Phrase เป็นเหมือนกับรหัสเพื่อเข้าสู่ Crypto Wallets ของคุณ ซึ่งการแสดงความเป็นเจ้าของจะแตกต่างจากกระเป๋าเงินในโลกแห่งความเป็นจริง โดยในโลกแห่งความเป็นจริงการยืนยันความเป็นเจ้าของคือ การที่คุณครอบครองและเก็บไว้กับตัว แต่ในโลกคริปโตความเป็นเจ้าของจะถูกใช้ผ่าน Seed Phrase
- หากรหัส Crypto Wallets (Seed Phrase) ของคุณหลุดออกไป ผู้ที่รู้รหัส Seed Phrase ของคุณก็สามารถเข้าถึง Crypto Wallets ของคุณได้เช่นกัน และสามารถทำธุรกรรมทุกอย่างได้เหมือนกับเป็นเจ้าของกระเป๋า เปรียบเสมือนกับกระเป๋าเงินในโลกความจริงถูกขโมยไป คนที่ขโมยก็สามารถเอาทรัพย์สินของเราไปได้หมด เพราะฉะนั้น Seed Phrase ควรมีคุณคนเดียวที่รู้
หลังจากเราทราบกันแล้วว่า Crypto Wallets คืออะไร และคุณครอบครองมันได้ยังไง ต่อไปเราจะไปดูกันว่า Crypto Wallets สำคัญยังไง และมีหน้าที่อะไรบ้าง
ความสำคัญ และหน้าที่ของ Crypto Wallets
- Crypto Wallets เป็นเหมือนประตูด่านแรกในการเข้าสู่โลกคริปโต ซึ่งการเชื่อมต่อโลกการเงินดิจิตอลในบล็อคเชนจำเป็นต้องใช้ Crypto Wallets ในการเข้าถึงเพื่อยืนยันตัวตน แสดงความเป็นเจ้าของ และบันทึกข้อมูลเฉพาะของคุณ อีกทั้ง Crypto Wallets ยังใช้ทำธุรกรรมส่วนใหญ่ในโลกคริปโต ซึ่งหากไม่มี Crypto Wallets ก็เรียกได้ว่าไม่สามารถทำอะไรในโลกคริปโตได้เลย เพราะโลกคริปโตก็เหมือนกับโลกการเงินอีกโลกหนึ่ง ซึ่งถ้าหากคุณไม่มีกระเป๋าเงินที่คอยใช้เก็บเงิน หรือทำธุรกรรม ก็เหมือนกับอยู่ในสนามแข่งรถ แต่ไม่มีรถเลยล่ะครับ
- หน้าที่ของ Crypto Wallets หลัก ๆ คือ รับ โอน เก็บ และใช้ ในโลกคริปโต คุณสามารถรับเงินจากคนอื่นได้ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Eth หรือสกุลเงินอื่น ๆ ที่อยู่ในบล็อคเชน โดยนำมาเก็บไว้ใน Crypto Wallets ซึ่งไม่ว่าคุณจะขาย NFT หรือได้รับเงินปันผลใน Defi เงินก็จะเข้าสู่ Wallets ของคุณโดยตรง และแน่นอนว่าคุณก็สามารถโอนให้ผู้อื่นได้เช่นกัน รวมถึงใช้ซื้อคริปโต และของอื่น ๆ เช่น NFT ได้ผ่าน Crypto Wallets นอกจากนี้ Crypto Wallets ยังมีหน้าที่เป็นเหมือนตัวบันทึกข้อมูลของคุณ โดยทุกธุรกรรมที่คุณทำจะมีการบันทึกไว้บนบล็อคเชน ซึ่งคุณสามารถติดตามเส้นทางการเงินของคุณได้ทุกเส้นทางโดยดูจากรหัส Public key ของ Crypto Wallets (ผมจะอธิบายในหัวข้อถัดไป) รวมถึงเป็นตัวเชื่อมต่อให้คุณสามารถเข้าใช้งานเว็บต่าง ๆ ในโลกคริปโตได้ เช่น Gamefi ที่เมื่อคุณเชื่อมต่อกับ Crypto Wallets ก็จะแสดงข้อมูลของคุณในเกมที่เล่นไว้ รวมถึงทรัพย์สินที่มีทันที และสุดท้าย Crypto Wallets มีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินดิจิตอลของคุณไม่ให้ถูกโจรกรรมได้ง่าย เพราะมีการปกป้องด้วยรหัสที่มีคุณเพียงคนเดียวที่รู้ รวมถึงสามารถเก็บแยกออกมาใน Hardware Wallets ซึ่งนำออกมาเป็นกระเป๋าที่สามารถจับต้องได้ในชีวิตจริง ช่วยให้ป้องกันการขโมยผ่านโลกดิจิตอลได้ ถือเป็นประเภทหนึ่งของ Crypto Wallets ที่ผมกำลังจะกล่าวในหัวข้อต่อไปนี้
ประเภทของ Crypto Wallets
- Crypto Wallets สามารถแยกออกมาได้ประเภท 2 ประเภท ตามวิธีการใช้งานและระดับความปลอดภัยในการดูแลทรัพย์สิน ซึ่ง Crypto Wallets แบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ Hot Wallets และ Cold Wallets
Crypto Wallet ประเภท HotWallets
- Hot Wallets คือ กระเป๋าเงินที่เราสามารถเข้าใช้งานบนเว็บไซต์ได้ เพราะเป็นกระเป๋าที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา เปรียบเสมือนเวลาคุณใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ เพียงแค่เข้ารหัสก็สามารถเข้าถึง Wallets ของคุณได้ทันที ซึ่งทำให้สะดวกต่อการใช้งาน แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกแฮกสูงขึ้นเนื่องจากข้อมูลอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต โดย Hot Wallets สามารถแยกออกมาได้ 3 ประเภทดังต่อไปนี้
Desktop Wallets
- Desktop Wallets คือ Wallets ที่ติดตั้งอยู่บนคอมพิวเตอร์ของคุณ ซึ่งเวลาเข้าใช้งานจะต้องใส่คีย์ของคุณเข้าไป Wallets ประเภทนี้นั้นมีความปลอดภัยสูงระดับหนึ่งเนื่องจากสามารถเข้าได้ผ่านคอมพิวเตอร์ของคุณเท่านั้น แต่การใช้งาน Wallets ประเภทนี้จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของระบบบล็อคเชนระดับหนึ่งจึงจะสามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยตัวอย่างของ Desktop Wallets ได้แก่ Electrum
Mobile Wallets
- Mobile Wallets คือ กระเป๋าเงินที่อยู่บนมือถือตามชื่อเลยครับ ซึ่งจะเป็นแอพพลิเคชันที่ติดตั้ง และใช้งานบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต โดยเวลาสร้างจะเหมือนกับ Wallets ทั่วไปที่จะมี Seed Phrase มาให้ แต่สะดวกกว่าตรงที่บนมือถือสามารถใช้การสแกนใบหน้าเพื่อเข้า Wallets ได้อย่างรวดเร็ว Mobile Wallets ช่วยให้เราสามารถรับ – ส่งคริปโตได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ส่วนทางด้านความปลอดภัยก็อยู่ที่ระดับกลาง – ดี เนื่องจากเป็นกระเป๋าที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตเช่นกัน ตัวอย่างของ Mobile Wallets เช่น Trust Wallet
Web Wallets
- Web Wallets คือ กระเป๋าเงินที่อยู่บนเว็บไซต์ ซึ่งเราสามารถเข้าเว็บไซต์ และใส่รหัสที่ตั้งไว้ได้เพื่อเข้าถึง Wallets ของเราได้ทันที หรือบาง Wallet อาจเป็นส่วนขยายใน Google chrome โดย Web Wallets จะมีระบบการรักษาความปลอดภัยระดับกลาง – ดี เพราะมีการดูแลจากเว็บไซต์ แต่ถึงอย่างนั้นหากเราทำรหัสหายก็สามารถถูกโจรกรรมได้เช่นกัน ตัวอย่างของ Web Wallets เช่น Metamask
Crypto Wallets ประเภท Cold Wallets
- Cold Wallets คือ กระเป๋าเงินที่ถูกจัดเก็บไว้ในอุปกรณ์ที่สามารถจับต้องได้ โดยไม่มีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต และผู้อื่นไม่สามารถเข้าถึงได้หากไม่มีอุปกรณ์ ซึ่งจะแตกต่างจาก Hot Wallets ด้านลักษณะของการเก็บรหัสกระเป๋า การใช้งาน และการเข้าถึง Cold Wallets ถือว่ามีความปลอดภัยมากกว่า Hot Wallets เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่เจ้าของสามารถเก็บไว้ในโลกแห่งความเป็นจริง โดยที่ไม่มีใครเข้าถึงได้ เปรียบเสมือนตู้เซฟเคลื่อนที่ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีข้อเสียตรงที่มีราคาสูง รวมถึงหากทำหายแล้วจะสามารถกู้คืนได้ยากหากไม่มีการสำรองรหัสเอาไว้ และต่อไปนี้คือประเภทของ Cold Wallets ที่มีในปัจจุบันได้แก่ Hardware Wallets และ Paper Wallets
Hardware Wallets
- Hardware Wallets คือ กระเป๋าเงินที่อยู่ในรูปของสิ่งที่จับต้องได้ เช่น USB ซึ่ง Hardware Wallets แต่ละชิ้นจะสร้างรหัสเฉพาะที่แตกต่างกันขึ้นมา โดยคุณสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครรู้รหัสของคุณ ซึ่งใช้โดยการเสียบกับคอมพิวเตอร์ เพื่อเปิด Wallets ของคุณ ซึ่งความปลอดภัยของ Hardware Wallets ถือว่าปลอดภัยที่สุดในบรรดา Wallets ทั้งหมด เนื่องจากไม่มีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้คนไม่สามารถแฮกกระเป๋าเราได้ รวมถึงแต่ละอุปกรณ์ก็จะมีระบบการป้องกันที่แน่นหนา เช่น การยืนยันตัวตนกับอุปกรณ์ก่อนใช้งาน ซึ่งจำเป็นต้องมีตัว Hardware Wallets อยู่ใกล้ ๆ จึงจะสามารถเข้าถึงกระเป๋าได้ เพราะฉะนั้นหากไม่ได้ทำหาย กระเป๋าเงินของคุณก็จะอยู่ติดตัวคุณไปอีกนาน โดย Hardware Wallets เหมาะสำหรับผู้ที่มีจำนวนเงินดิจิตอลที่มาก และต้องการเก็บเอาไว้นาน ๆ
Paper Wallets
- Paper Wallets คือ กระเป๋าเงินที่ถูกบันทึกไว้อยู่บนกระดาษ ซึ่งการจะใช้นั้นจำเป็นต้องนำรหัสที่ได้ไปกรอกใน Website ที่เราได้สร้างรหัส (Private keys) ขึ้นมาจึงจะสามารถเข้าถึงกระเป๋าได้ Paper Wallets ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของ Crypto Wallets ที่มีความปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจากข้อมูลของกระเป๋าไม่ได้อยู่ในระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงกระเป๋าเงินของเราได้ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่กระเป๋าเงินของเราอยู่บนกระดาษจริง หากกระดาษหาย หรือชำรุด ก็จะไม่สามารถเรียกกระเป๋าเงินของเรากลับคืนมาได้
โอเคครับ หลังจากที่เรารู้แล้วว่า Crypto Wallets นั้นมีกี่ประเภท และมีอะไรบ้าง ต่อไปเราจะไปดูหลักการทำงานของ Crypto Wallets กันครับ โดยในหัวข้อต่อไปทุกท่านจะได้รู้ถึงความแตกต่างระหว่าง Public keys และ Private keys และทั้งสองคืออะไร (จะสังเกตได้ว่าในหัวข้อข้างต้นจะมีคำว่า Public keys และ Private keys อยู่บ้าง ซึ่งผมใช้คำว่ารหัสแทนเพื่อให้เข้าใจง่าย แต่ในหัวข้อต่อไปจะทำการลงลึกเพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพชัดเจน) รวมถึงหลักการทำงานของ Crypto Wallets เมื่อคุณทำธุรกรรมว่ามีการทำงานยังไง เพื่อที่ในการใช้งาน Crypto Wallets ของคุณจะง่าย และราบรื่นมากยิ่งขึ้น
Crypto Wallets มีหลักการทำงานยังไง ?
- Crypto Wallets มีหลักการทำงานโดยแต่ละกระเป๋าจะมี Public keys และ Private Keys ที่แตกต่างกันใน 1 ใบ ซึ่งทั้งสองจะมีหน้าที่แตกต่างกัน นอกจากนี้หลักการทำงานของ Crypto Wallet จะเป็นเหมือนกุญแจเข้ารหัสมากกว่าที่จะเป็นกระเป๋าเก็บเงิน เพราะเงินทั้งหมดจะไม่ได้อยู่ในกระเป๋า แต่จะถูกจัดเก็บไว้บนบล็อคเชนเพื่อให้มีความปลอดภัย และตรวจสอบได้ แต่การที่มีกระเป๋าก็เหมือนคุณได้ครอบครองทรัพย์สินของคุณแม้จะไม่ได้อยู่ในกระเป๋าของคุณก็ตาม ซึ่งคุณก็ยังสามารถใช้คริปโตใน Wallets ของคุณ โดยที่คนอื่นไม่สามารถใช้ได้หากไม่รู้รหัสของคุณ
Public Keys และ Private Keys คืออะไร ? แตกต่างกันยังไง ?
- Public keys คือ รหัสที่เป็นสาธารณะของ Wallets ซึ่งผู้คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ โดยสามารถดูได้จากธุรกรรมที่ปรากฏบนบล็อคเชน แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ Public keys ไม่ได้สามารถใช้เพื่อเข้าถึงกระเป๋าเงินของเราได้ ทำได้แค่เป็นรหัสปลายทางเพื่อรับทรัพย์สิน เช่น คริปโต และใช้เพื่อยืนยันตัวตนในธุรกรรมเท่านั้น
- Private keys คือ รหัสที่ใช้เพื่อเข้าถึงกระเป๋าเงิน ซึ่งผู้ที่มี Private keys สามารถทำธุรกรรมในกระเป๋าใบนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโอนเงิน หรือซื้อคริปโต ก็สามารถทำได้ ซึ่ง Private keys เป็นรหัสสำคัญที่ไม่ควรให้คนอื่นรู้
หลักการทำงานของ Crypto Wallets กับ Blockchain
- หลักการทำงานของ Crypto Wallets กับ Blockchain คือ เมื่อเกิดธุรกรรมจาก Crypto Wallets รายการธุรกรรมที่เกิดขึ้นจะถูกบันทึกไว้บน Blockchain ทั้งหมดเพื่อเป็นการแสดงความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งทุกคนสามารถมองเห็นรายการธุรกรรมได้ แต่จะเห็นเป็น Public keys และไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นเจ้าของกระเป๋า เช่น นาย A ส่ง Bitcoin ไปให้ นาย B ธุรกรรมนี้ก็จะถูก Blockchain บันทึก Public keys ของกระเป๋านาย A ว่าได้มีการส่ง Bitcoin ไปให้นาย B ซึ่ง Public keys ของกระเป๋านาย B ก็จะถูกบันทึกไว้ว่าได้รับ Bitcoin จากนาย A เช่นกัน
หลังจากที่เราได้ทราบเรื่องรหัสของ Crypto Wallets รวมถึงหลักการทำงานของมันกันแล้ว ทีนี้ทุกท่านก็พร้อมที่จะเข้าสู่โลกของคริปโตกันแล้วครับ ซึ่งในหัวข้อต่อไป จะเป็นวิธีการสร้าง Crypto Wallets รวมถึงการเลือกเครือข่ายของ Crypto Wallets เพราะว่าแต่ละเครือข่ายก็จะรองรับ Crypto Wallets ที่แตกต่างกัน
วิธีสร้าง Crypto Wallets
- การสร้าง Crypto Wallets นั้นต้องดูหลากหลายปัจจัยก่อนที่คุณจะเริ่มสร้าง เนื่องจากผู้ให้บริการ Wallets แต่ละเจ้ามีการรองรับการใช้งานที่แตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบในการใช้งานของคุณ เช่น คุณต้องการสร้าง Wallets ไว้เก็บ bitcoin แต่ดันสร้าง Crypto Wallets ที่เก็บได้แค่เหรียญ ADA ก็จะทำให้ Crypto Wallets ของคุณไม่ตอบโจทย์การใช้งาน ซึ่งคุณสามารถดูวิธีการเลือก Crypto Wallets ที่เหมาะกับคุณได้ในหัวข้อถัดไปครับ
เลือก Crypto Wallets ที่เหมาะกับคุณ
- การใช้งาน อันดับแรกให้เอาการใช้งานของคุณเป็นหลัก ถามตัวคุณเองว่าคุณต้องการใช้งานเพื่ออะไร เช่น เพื่อซื้อเหรียญคริปโต หรือ ต้องการซื้อ NFT ต้องการใช้ข้ามเชนหรือไม่ ต้องการเก็บเหรียญที่หลากหลายหรือไม่ ซึ่งถ้าหากคุณใช้งานเพียงเล็กน้อยอย่างการซื้อและเก็บ Bitcoin การเลือก Crypto Wallets ก็ควรเลือกกระเป๋าที่ใช้กับ Bitcoin โดยเฉพาะ หรือหากคุณเป็นสาย NFT ซึ่งซื้อด้วย ETH การเลือกกระเป๋าเงินที่สามารถเก็บได้ทั้ง NFT และเหรียญ ETH ก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับคุณ
- เครือข่าย หลังจากที่คุณทราบการใช้งานของคุณแล้ว หรือสำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าต้องใช้งานอะไร ให้คุณมาดูที่เครือข่าย ซึ่งเครือข่าย หรือ Chain ในที่นี้ก็คือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบล็อคเชน ยกตัวอย่างเช่น Cardano chain กับ Bitcoin chain คุณไม่สามารถที่จะเก็บ Bitcoin ไว้บน Crypto Wallets ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ใน Cardano chain ได้ ซึ่งใน Cardano chain ก็จะมีเหรียญ รวมถึงแอพพลิเคชั่นเฉพาะสำหรับ Cardano chain ฉะนั้นการศึกษาเครือข่าย และเลือกก่อนที่จะสร้าง Crypto Wallets ก็จะช่วยให้คุณสามารถใช้งานบนเครือข่ายตามจุดประสงค์ที่คุณต้องการได้
- ความน่าเชื่อถือ การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ Crypto Wallets ก่อนที่จะสร้างถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะทุกวันนี้มีการปลอมแปลงเว็บไซต์ รวมถึงสร้างกระเป๋าเงินขึ้นมาเพื่อหลอกลวงโดยเฉพาะ ซึ่งผมแนะนำให้ตรวจสอบลิสดังต่อไปนี้ก่อนที่จะเปิด Crypto Wallets 1. ตรวจสอบใบอนุญาติต่าง ๆ ของ ผู้ให้บริการ 2.ตรวจสอบประวัติความเป็นมาของแพลตฟอร์มที่ให้บริการ รวมถึงผู้ที่ทำงานเบื้องหลังว่ามีการเปิดเผยข้อมูลจริงหรือไม่ 3.ตรวจสอบจากรีวิวของผู้ที่เคยใช้งานจริง 4. ระยะเวลาการดำเนินงาน และสุดท้าย 5.วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ทั้งหมดนี้จะช่วยให้คุณสร้าง Crypto Wallets ได้โดยที่ไม่ถูกหลอกลวงครับ
- ความปลอดภัย ความปลอดภัยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการเลือก Crypto Wallets ของคุณ ควรตรวจสอบประวัติการถูกแฮค ระบบรักษาความปลอดภัย และการรับรองความปลอดภัยของผู้ให้บริการทุกครั้งก่อนที่เราจะสร้าง Crypto Wallets เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลของคุณได้
- การเชื่อมกับแอพพลิเคชั่นในโลกคริปโต หรือ DApps DApps ย่อมาจาก Decentralized Application ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นในบล็อคเชนที่ไม่มีตัวกลาง แอพพลิเคชั่นในโลกคริปโตก็จะมีตั้งแต่แอพขาย NFT ไปจนถึงแอพที่ทำหน้าที่ให้กู้เงิน หรือปล่อยกู้เงินเหมือนอย่างธนาคารที่เรารู้จัก การศึกษา DApps ที่คุณต้องการใช้ก่อนที่จะเปิด Crypto Wallets ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะว่าหากคุณเปิด Crypto wallets ที่ DApps ไม่รองรับ ก็จะทำให้คุณไม่สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นที่คุณต้องการได้
หลังจากที่คุณได้ Crypto Wallets ที่เหมาะกับคุณแล้ว ต่อไปก็ถึงขั้นตอนการสร้าง Crypto Wallets ซึ่งจะเป็นการนำขั้นตอนหลักมาให้ทุกท่านได้ดู โดยใช้การสร้าง Crypto Wallets ของ Metamask เป็นตัวอย่าง เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ รวมถึงมีขั้นตอนการสร้างที่สามารถใช้เป็นแนวทางขั้นตอนหลักในการสมัคร Wallets ของผู้ให้บริการอื่น ๆ ได้ แต่ถึงอย่างนั้นการสร้าง Crypto Wallets ของแต่ละแพลตฟอร์มอาจมีขั้นตอนที่แตกต่างกันบ้างไม่มากนัก แต่โดยรวมจะมีขั้นตอนหลักดังหัวข้อต่อไปนี้
ขั้นตอนการสร้าง Crypto Wallets
- เข้าเว็บไซต์ของ Crypto Wallets ที่ต้องการ : เข้าไปที่เว็บไซต์ของ Crypto Wallets ที่คุณต้องการ ซึ่งบางแพลตฟอร์มให้บริการทั้งในเว็บไซต์ และเป็นแอพพลิเคชั่นบนมือถือ โดยขั้นตอนการสมัครไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่แตกต่างกันที่แพลตฟอร์มให้บริการ โดยในที่นี้ผมจะพาไปที่เว็บไซต์ Metamask บนแพลตฟอร์ม PC ซึ่งเป็น Crypto Wallets ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก
(หน้าตาของเว็บไซต์ Metamask)
- ดาวน์โหลด และติดตั้ง: กดดาวน์โหลด Metamask หลังจากนั้นทำการเพิ่มเข้าไปใน Chrome เพื่อให้เวลาเรียกใช้ Metamask จะสามารถเรียกได้ทันที รวมถึงเวลาเชื่อมต่อแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ Metamask จะสามารถเชื่อมต่อให้คุณได้ทันทีโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้การเพิ่มไปยังส่วนขยายของ Chrome ทำให้เมื่อคุณเปิด Chrome ขึ้นมาก็จะเจอ Crypto Wallets ตลอดเวลา และเป็นการแสดงถึงความเป็นเจ้าของ Wallets
(กดดาวน์โหลด)
(เมื่อดาวน์โหลดเสร็จจะขึ้นหน้าต่างแบบนี้ ให้กดเพิ่มใน Chrome ดังรูป)
(หลังจากกดเพิ่มใน Chrome แล้ว Metamask จะไปอยู่ในส่วนขยาย)
(กดปักหมุด)
(เสร็จเรียบร้อย Metamask ได้อยู่บน Chrome ของคุณแล้ว ซึ่งเวลากดใช้สามารถกดได้จากตรงนี้ทันที)
- สร้าง Crypto Wallets: เมื่อเราดาวน์โหลดเสร็จสิ้นจะมีหน้าต่างให้สร้าง Metamask Wallets ขึ้นมา ให้คุณกดไปที่ยอมรับข้อตกลงการใช้งาน และกดสร้างกระเป๋าใหม่ (Create a new wallet) โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะถูกอธิบายไว้ใต้ภาพเพื่อให้ทุกท่านเข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ
(กด Create a new wallet เพื่อสร้างกระเป๋าเงินของคุณ)
(หลังจากกดแล้วจะขึ้นหน้าต่างเงื่อนไขการใช้งานดังนี้ ให้กด I agree (ยอมรับเงื่อนไข)
(เมื่อยอมรับเสร็จจะปรากฏให้คุณสร้างพาสเวิร์ดใหม่ อันนี้จะเป็นพาสเวิร์ดเมื่อคุณเข้าใช้ Metamask)
(หลังจากคุณสร้างพาสเวิร์ดเสร็จ จะมีวิดีโอคำแนะนำการใช้งานให้แก่คุณ ให้คุณอ่านให้ครบถ้วน และกดคำว่า Secure my wallet เพื่อสร้าง Seed Phrase หรือกลุ่มคำที่เป็นรหัสในการกู้คืน และเข้าสู่ Crypto Wallets ของคุณ)
(ให้คุณแน่ใจว่าไม่มีใครอยู่ใกล้ตัว และกดเปิดเผยกลุ่มคำได้เลย)
(เมื่อกดแล้วจะขึ้นหน้าต่างดังนี้ ให้คุณทำการจดเอาไว้ หรือถ่ายไว้และห้ามให้ใครเห็นเด็ดขาด เนื่องจากกลุ่มคำพวกนี้คือรหัสเข้าสู่ Crypto Wallets ของคุณ และสามารถกู้ Crypto Wallets ของคุณได้)
(หลังจากบันทึกเรียบร้อยจะขึ้นหน้าต่างให้คุณใส่คำที่คุณได้มาในช่องว่าง เพื่อยืนยัน)
(เมื่อใส่เสร็จก็เรียบร้อย ตอนนี้คุณมี Crypto Wallets แล้ว)
(คำแนะนำการใช้หลังจากเปิด Crypto Wallets)
(คำแนะนำการใช้หลังจากเปิด Crypto Wallets)
(หน้าตา Crypto Wallets ของคุณเมื่อสร้างเสร็จ)
เสร็จเรียบร้อยสำหรับการสร้าง Crypto Wallets ใบแรกของคุณ ทีนี้คุณก็พร้อมเข้าสู่โลกการลงทุนในคริปโตแล้วครับ แต่ก่อนที่คุณจะเริ่มลงทุน หรือใช้งาน Crypto Wallets ผมแนะนำว่าควรรู้วิธีปกป้อง Crypto Wallets ของคุณเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เงินลงทุนใน Crypto Wallets ของคุณถูกขโมยไป ซึ่งผมได้เขียนวิธีป้องกันการถูกขโมย Crypto Wallets รวมถึงว่าทำไมต้องให้ความสำคัญกับการปกป้อง Crypto Wallets เอาไว้ในหัวข้อถัดไปแล้วครับ ถ้าคุณอยากไม่อยากให้ Crypto Wallets ถูกขโมย ก็ไปดูวิธีป้องกันพร้อมกันเลย
วิธีป้องกัน Crypto Wallets ถูกขโมย
ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการปกป้อง Crypto Wallets
- ความรู้ในแนวทางปฏิบัติเพื่อปกป้อง Crypto Wallets ของคุณจะช่วยให้คุณสามารถป้องกันการโจรกรรมที่มาในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ซึ่งไม่ใช่มีเพียงแค่การแฮกข้อมูลของคุณเพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันมีรูปแบบการโกงขึ้นมามากมาย เช่น การฟิชชิ่ง (Phishing) หรือ การโจมตีแบบมัลแวร์ (Malware) ซึ่งการฟิชชิ่งก็คือ การที่กลุ่มแฮกเกอร์ทำการหลอกลวงคุณไม่ว่าจะทางเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ให้คุณใส่รหัส เพื่อนำรหัสของคุณขโมยเงินใน Crypto Wallets ของคุณไป หรือการโจมตีแบบมัลแวร์ คือ การที่เหล่าแฮกเกอร์ส่งไวรัสโจมตีอุปกรณ์เก็บ Crypto Wallets ของคุณ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลของคุณ
- นอกจากการรู้เรื่องแนวทางปกป้อง Crypto Wallets จะช่วยให้เงินคุณไม่ถูกขโมยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่การป้องกัน Crypto Wallets ช่วยได้ก็คือ การปกป้องข้อมูลส่วนตัวของคุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากข้อมูลส่วนตัวของคุณเกิดรั่วไหล ไม่ว่าจะเป็น private keys หรือที่อยู่ของคุณ ก็จะทำให้เกิดความอันตรายต่อทั้งชีวิต และทรัพย์สินของคุณ
การปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ Crypto Wallets ถูกขโมย
- ใช้รหัสผ่านที่ซับซ้อนและยากต่อการเดาจะช่วยให้ Crypto Wallets ของคุณปลอดภัยต่อการถูกขโมยมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมแนะนำว่ารหัสผ่านควรมีความยาวมากกว่า 12 ตัว และควรประกอบด้วยตัวอักษรใหญ่ ตัวอักษรเล็ก ตัวเลข และสัญลักษณ์พิเศษ
- เปิดใช้งานการยืนยันตัวตนสองขั้นตอน (two-factor authentication หรือย่อว่า 2 FA) ซึ่งเป็นการยืนยันตัวตนเพิ่มเติม เช่น การสแกนใบหน้า หรือ การตั้ง Pin code โดยการยืนยันตัวตนสองขั้นตอน (2FA) จะเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึง Crypto Wallets ของคุณ เพราะนอกจากรหัสผ่านทั่วไปที่คุณมีแล้ว คุณยังจะต้องยืนยันตัวตนผ่านอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สมาร์ทโฟน หรือแอพพลิเคชันยืนยันตัวตน เพื่อที่จะเข้าถึง Crypto Wallets ของคุณได้ ทำให้ผู้ที่ไม่หวังดีไม่สามารถขโมยเงินใน Crypto Wallets ของคุณได้
- สำรองข้อมูล Recovery Phrase หรือ Seed Phrase ของคุณไว้ เพื่อใช้ในการกู้คืน Crypto Wallets ในกรณีที่คุณไม่สามารถเข้าถึงกระเป๋าของคุณได้ ซึ่งควรจดบันทึก Recovery Phrase และเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยในที่ที่คนอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่น การจดใส่กระดาษและเก็บเอาไว้ในตู้เซฟ นอกจากนั้น Recovery Phrase ของคุณไม่ควรถูกบันทึกไว้ในอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เพราะอาจนำไปสู่การถูกแฮกข้อมูลได้
- ใช้ Hardware Wallets ในการเก็บทรัพย์สินของคุณเอาไว้ เพราะ Hardware Wallets เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อเก็บรักษา Private keys ของคุณให้ปลอดภัย ซึ่งการที่ Hardware Wallets ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต จะทำให้ลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางออนไลน์ โดย Hardware Wallets ที่นิยมใช้ และมีความปลอดภัย เช่น Ledger Nano S หรือ Trezor
- อัพเดตซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชันของ Crypto Wallets เป็นประจำ เพื่อป้องกันการใช้ช่องโหว่ด้านความปลอดภัยของแฮกเกอร์ที่จะแฮก Crypto Wallets ของคุณ
- ตรวจสอบและระวังการใช้เว็บไซต์ของคุณเสมอ เพราะมีเว็บไซต์ที่ปลอมขึ้นมาเพื่อดูดข้อมูลของคุณออกไปโดยเฉพาะ ซึ่งเรียกกันว่า การฟิชชิ่ง (Phishing) โดยการฟิชชิ่งเป็นวิธีการที่แฮกเกอร์ใช้หลอกลวงให้คุณเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัสผ่านหรือคีย์ส่วนตัว ซึ่งคุณสามารถโดนได้จากการกรอกข้อมูลในเว็บไซต์แปลก ๆ หรือการกดรับเหรียญคริปโตที่น่าสงสัย รวมถึงจดหมาย และลิงค์ที่ดูไม่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นควรระมัดระวังและตรวจสอบอีเมลหรือเว็บไซต์ก่อนที่คุณจะทำธุรกรรมในโลกคริปโตอย่างถี่ถ้วนเสมอ
โอเคครับตอนนี้คุณก็ได้รู้วิธีการป้องกัน Crypto Wallets ของคุณจากอันตรายในโลกคริปโตเรียบร้อยแล้ว แต่ทุกท่านรู้หรือไม่ว่าในการใช้ Crypto Wallets ทำธุรกรรมต้องเสียค่าธรรมเนียมในการใช้งาน ซึ่งหากเราไม่รู้เรื่องการคิดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม อาจจะทำให้เราสูญเสียเงิน หรือโอกาสในการทำกำไรได้ เพราะว่าการเสียค่าธรรมเนียมของการทำธุรกรรมมีส่วนทำให้เวลาในการทำธุรกรรมช้าหรือเร็ว รวมถึงอาจทำให้ธุรกรรมที่เราทำสำเร็จหรือล้มเหลวเลยก็ได้ ซึ่งเวลาเพียงวินาทีเดียวในโลกของคริปโตเป็นตัวตัดสินว่าคุณจะซื้อเหรียญได้ในราคาถูกหรือแพงเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นในหัวข้อต่อไป ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับค่าธรรมเนียมการใช้ Crypto Wallets, เรียนรู้วิธีการดูค่าธรรมเนียม และการประหยัดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อค่าธรรมเนียม และความเร็วของธุรกรรม
ค่าธรรมเนียมของ Crypto Wallets คืออะไร ?
- ค่าธรรมเนียมของ Crypto Wallets คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการทำธุรกรรม เช่น การรับ – ส่ง คริปโต หรือ NFT ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้มีไว้เพื่อเป็นค่าบริการของผู้ให้บริการเครือข่ายบล็อกเชน และเพื่อความปลอดภัยของระบบ โดยค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมจะถูกเรียกว่า Gas ซึ่งเปรียบเสมือน Gas ของรถยนต์ที่ช่วยให้วิ่งได้ไว และนาน โดยการทำธุรกรรมในโลกคริปโตนั้น แต่ละธุรกรรมก็จะถูกตรวจสอบก่อนที่จะให้ธุรกรรมนั้นสำเร็จได้ ซึ่งการส่งคำสั่งธุรกรรมของเราก็จะไปรวมกับคำสั่งทำธุรกรรมของคนอื่นเช่นกัน เนื่องจากเราใช้อยู่บนเทคโนโลยีบล็อคเชน ทำให้ข้อมูลถูกทำการตรวจสอบแตกต่างจากการทำธุรกรรมในโลกปกติ เมื่อธุรกรรมของเรากับคนอื่นถูกตรวจสอบรวมกัน ความเร็ว และความสำเร็จของธุรกรรมจะถูกกำหนดด้วยค่า Gas ซึ่งหากใครให้ค่า Gas ที่สูงกว่า ธุรกรรมก็จะถูกตรวจสอบก่อน ทำให้ส่งผลต่อความเร็ว และความสำเร็จของการทำธุรกรรม ยกตัวอย่างเช่น นาย A และ นาย B ทำการซื้อ NFT เดียวกัน โดยที่นาย A จ่ายค่า Gas สูงกว่า นาย B ทำให้ธุรกรรมของนาย A ถูกนำไปตรวจสอบก่อน และธุรกรรมสำเร็จก่อน นาย A จึงได้รับ NFT ชิ้นนั้นไป ส่วนนาย B ธุรกรรมก็จะถูกยกเลิก และเสียค่า Gas ไปฟรี ๆ
วิธีดูค่าธรรมเนียมของ Crypto Wallets
- เราสามารถดูค่าธรรมเนียมได้เมื่อคุณส่งคำสั่งทำธุรกรรมในเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น OPENSEA (แพลตฟอร์มซื้อขาย NFT) เมื่อคุณกดซื้อ NFT จะปรากฏค่าธรรมเนียมที่ Crypto Wallets ของคุณ และคุณสามารถทำการปรับค่าธรรมเนียม (Gas) ที่คุณต้องการจ่ายได้
ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าธรรมเนียมของ Crypto wallets
- จำนวนผู้ให้บริการการตรวจสอบธุรกรรมมีผลต่อการคิดค่าธรรมเนียม เนื่องจากในการตรวจสอบธุรกรรมจะไม่ได้มีคนกลางในการตรวจสอบ แต่จะถูกตรวจสอบโดย Node ซึ่งเป็นระบบที่บุคคลทั่วไปเข้ามาตรวจสอบธุรกรรมเพื่อรับรางวัลเป็นเหรียญ คล้ายกับการใช้คอมพิวเตอร์ขุด Bitcoin ซึ่งหากมีผู้ร่วมให้บริการมาก ธุรกรรมก็จะถูกตรวจสอบอย่างรวดเร็วเพราะทุกคนช่วยกันตรวจสอบธุรกรรม ทำให้ค่าธรรมเนียมถูก แต่หากผู้ให้บริการน้อย การตรวจสอบธุรกรรมก็จะเป็นไปได้ช้า ทำให้ต้องประมูลค่า Gas กัน ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมแพง
- จำนวนคนทำธุรกรรมส่งผลต่อการคิดค่าธรรมเนียมตรงที่เมื่อมีคนทำธุรกรรมพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้การรองรับของเครือข่าย และการตรวจสอบของผู้ให้บริการต้องรับภาระหนักมากขึ้น ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบ และประมวลผลสูงขึ้น แต่กลับกันหากมีคนทำธุรกรรมพร้อมกันจำนวนน้อยก็จะทำให้ลดภาระในการตรวจสอบของผู้ให้บริการ ทำให้ค่าธรรมเนียมถูก และความเร็วในการทำธุรกรรมเร็วขึ้น
- เครือข่ายที่ทำธุรกรรมมีส่วนในการทำให้ค่าธรรมเนียมถูกหรือแพง โดยเครือข่ายในที่นี้ก็คือ Chain ต่าง ๆ เช่น ETH หรือ ADA ซึ่งแต่ละ Chain จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะด้านค่า Gas หรือด้านความปลอดภัย Chain ที่เน้นด้านความปลอดภัยสูงจะมีการตรวจสอบที่ละเอียด ทำให้ระยะเวลาและค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมสูง เนื่องจากต้องใช้พลังงานในการตรวจสอบมาก ส่วน Chain ที่เน้นค่า Gas ถูกก็ต้องแลกกับการตรวจสอบที่ไม่ละเอียดเท่า นอกจากนั้น Chain ที่ให้บริการมานานก็จะมีการรองรับเทคโนโลยีที่จำกัดมากกว่า Chain ที่ให้บริการทีหลัง ทำให้เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้มีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการคิดค่าธรรมเนียม
- ประเภทของธุรกรรม และความซับซ้อนของธุรกรรมทำให้ค่าธรรมเนียมแพงหรือถูกได้ โดยธุรกรรมที่มีความซับซ้อนน้อย และเป็นประเภทที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอพพลิเคชั่นที่มีความซับซ้อนจะมีค่าธรรมเนียมที่ถูก เช่น การส่งเหรียญจากกระเป๋าหนึ่งไปอีกกระเป๋าหนึ่ง ส่วนประเภทของธุรกรรมที่มีความซับซ้อนจะเกี่ยวข้องกับแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับ NFT หรืออื่น ๆ เช่น การซื้อ NFT จากเว็บไซต์ ซึ่งมีความซับซ้อนของธุรกรรม ทำให้ค่าธรรมเนียมสูงขึ้นได้
วิธีประหยัดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมผ่าน Crypto Wallets
- เลือกช่วงเวลาที่มีคนใช้งานน้อย เช่น ช่วงกลางคืน หรือช่วงเช้า จะทำให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมถูกลง
- เลือกความสำคัญของธุรกรรม คือ การที่คุณกำหนดความสำคัญของธุรกรรมที่จะทำก่อน เช่น หากคุณต้องการซื้อเหรียญคริปโตที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงของราคามากนัก การซื้อในช่วงเวลาที่มีคนใช้งานน้อยก็จะทำให้คุณสามารถประหยัดค่าธรรมเนียมได้ เนื่องจากธุรกรรมของคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณจะมีจำนวนน้อย
- เลือกเครือข่ายที่คุณต้องการใช้งาน โดยแต่ละ Chain มีค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน หากคุณต้องการประหยัดค่าธรรมเนียมก็สามารถเลือก Chain ที่เน้นด้านการประหยัดค่าธรรมเนียมได้
- ดูเว็บไซต์คำนวนค่า Gas ก่อนทำธุรกรรมจะช่วยให้คุณวางแผนการใช้ค่าธรรมเนียมได้ ซึ่งเว็บไซต์พวกนี้จะบอกคุณว่าควรใส่ค่า Gas เท่าไรเพื่อให้ธุรกรรมสำเร็จโดยที่คุณไม่ต้องใส่ค่า Gas สูง ๆ ช่วยให้ประหยัดค่าธรรมเนียมได้มากขึ้น
สรุป
- Crypto Wallets ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณสามารถทำธุรกรรมในโลกคริปโตได้ ไม่ว่าจะเป็นการ ซื้อ, ขาย, รับ, หรือ ส่งทรัพย์สินดิจิตอล โดยอยู่บนเทคโนโลยีบล็อคเชนที่มีความปลอดภัยสูง แต่ถึงอย่างนั้นการศึกษาวิธีใช้งาน รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเข้าสู่โลกคริปโตเช่นกัน เนื่องจากจะช่วยให้เราสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย ซึ่งในบทความนี้ผมได้ปูพื้นฐานทุกเรื่องเกี่ยวกับ Crypto Wallets ที่คุณควรรู้ไว้ทั้งหมดแล้ว หากท่านใดมีข้อสงสัย หรืออยากศึกษาเพิ่มเติมสามารถติดตามบทความอื่น ๆ ได้ในเว็บไซต์นี้ สำหรับวันนี้ผมต้องลาไปก่อน สวัสดีครับ