วันนี้เราจะนำคุณผู้อ่านทุกท่าน มาทำความรู้จักกับ “วิกฤติทางการเงิน” ที่เรียกว่า “Bank Run” กัน อธิบายง่าย ๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้คนแห่กันไปถอนเงินออกจากธนาคาร ซึ่งก็ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของตัวเองนั่นแหละครับ เพราะพวกเขาเหล่านี้เกิดความกังวลว่าสถาบันการเงินแห่งนั้นอาจถึงคราวจบเห่เป็นแน่แล้ว
ถึงแม้ว่าจะมีกลไกประกันเงินฝากในหลาย ๆ ประเทศเพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงินก็ตาม แต่คำมั่นเหล่านี้ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถใช้เงินของตัวเองได้ หรือมีความกังวลว่าอาจสูญเสียเงินเกินกว่าจำนวนที่ประกันครอบคลุมนั่นเอง
Bank Run ทำให้เกิด “วิกฤติทางการเงิน” ได้ยังไง?
ซึ่งจากการถอนเงินจำนวนมหาศาลที่เข้ามาถาโถมราวกับคลื่นซึนามิซัดเข้าสู่ชายฝั่งนี่เอง ทำให้สถาบันการเงินไม่อาจคืนเงินให้กับลูกค้าตามที่ตกลงไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ธนาคารมีสภาพคล่องทางการเงินไม่เพียงพอ และไม่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงินสดได้เพียงพอเพื่อทำตามพันธะที่มีอยู่
ธนาคารแห่งนั้นก็จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ด้วยเหตุนี้นี่เองจึงทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องเข้ามาดำเนินการเพื่อจัดการคืนเงินฝากให้กับลูกค้าอย่างเป็นระเบียบ และป้องกันไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกที่รุกลามบานปลายไปยิ่งกว่าเดิมนั่นเอง
แค่คนแห่ถอนเงิน ทั้งกระดานก็ล้มเหมือนโดมิโน่
คุณผู้อ่านทั้งหลายต้องเข้าใจเสียก่อนว่า สถาบันการเงินมักจะถือสินทรัพย์ของตัวเองในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งก็จะอยู่ในระบบธนาคารสำรองบางส่วน (Fractional Reserve Banking) สินทรัพย์นี้จะถูกเก็บในรูปแบบของเงินสด และจำนวนเงินที่กันไว้สำหรับความต้องการใช้เงินสดในแต่ละวันนั้น ก็ไม่สามารถนำมาสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้
ดังนั้นธนาคารจะถือสินทรัพย์ส่วนใหญ่ในรูปแบบเครื่องมือทางการเงินที่พร้อมขาย หรือถือไว้จนครบกำหนด เช่น พันธบัตรรัฐบาล สินเชื่อ และสินทรัพย์ที่มีการค้ำประกันด้วยจำนอง เป็นต้น
การเกิด Bank Run ที่ไม่สามารถควบคุมได้อาจทำลายทั้งผู้ถือหุ้น ผู้ถือพันธบัตร และผู้ฝากเงิน (ในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ประกันไว้) และหากสิ่งนี้เกิดขึ้นกับหลาย ๆ ธนาคาร ก็อาจสร้างความสั่นคลอนต่ออุตสาหกรรมธนาคารทั้งหมดได้เลย และอาจนำไปสู่วิกฤตการเงิน และเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
การเกิด Bank Run อาจทำให้ธนาคารล้มละลาย เพราะธนาคารต้องเทขายทรัพย์สินออกจำนวนมาก และด้วยความที่อยากได้เงินเร็ว ๆ ก็มักขายราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด จนทำให้ขาดทุนและเกิดการขาดสภาพคล่องตามมานั่นเอง
ทำไมถึงเกิด Bank Run ขึ้น?
สิ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจนำเงินไปฝากกับธนาคาร ก็คือ “ความไว้ใจ” และแน่นอนว่าถ้าหากความไว้ใจของลูกค้าลดลง หรือเสียไป ก็อาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนก (ไม่ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นแบบมีเหตุผล หรือไม่มีก็ตาม) ซึ่งโดยปกติแล้วการล้มละลายของธนาคารไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิด Bank Run แต่ความตื่นตระหนักต่างหากที่ทำให้เกิด Bank และสิ่งนี้ก็ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่องมากกว่าการล้มละลายจริง ๆ
แน่นอนว่าการจัดการสำรองเงินสดรายวันเป็นหน้าที่ที่สำคัญของธนาคาร แต่ถ้ามีลูกค้าจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แห่ถอนเงินออกมา การจัดการเงินทุนของธนาคารก็อาจเข้าสู่ภาวะตึงเครียด ยิ่งการถอนเงินเกินจำนวนที่วางแผนไว้มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ยิ่งถ้าหากลูกค้ามองว่าความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้เกินกว่าที่พวกเขาจะรับได้ ก็อาจจะกระตุ้นทำให้เกิดการถอนเงินเพิ่มขึ้นเป็นวงจรต่อเนื่อง
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาก็คือ ธนาคารอาจจำกัดการถอนต่อคน หรือระงับการถอนเงินทั้งหมดเพื่อรับมือกับความตื่นตระหนก แต่ถ้ามีการใช้มาตรการสุดโต่งเลยก็คือ ธนาคารก็จะตัดสินใจปิดการทำการชั่วคราวไปเลย แต่การตัดสินใจนี้บางครั้งก็จะมีการตัดสินใจร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลด้วย
เวลา 1:00 น. วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 1933 ประธานาธิบดีรูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ออกคำประกาศหมายเลข 2039 สั่งระงับการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดให้มีผลทันที โดยที่เขาเพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเพียง 36 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น
Bank Holiday อีกหนึ่งวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นเพราะเหตุ Bank Run
ย้อนไปวันที่ 6 มีนาคม 1933 ประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ออกคำสั่งปิดระบบธนาคารทั่วประเทศ เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า “Bank Holiday” ซึ่งกินระยะเวลาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อแก้ไขปัญหาการเกิด Bank Run ที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากการปิดทำการชั่วคราวนี้ ทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงแหล่งเงินสดจากธนาคารอื่น ๆ หรือจากธนาคารกลางได้เป็นผลสำเร็จ และเมื่อมั่นใจแล้วว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการถอนเงินของผู้คนได้ ก็กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง
Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) หรือ องค์การค้ำประกันเงินฝากแห่งสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่ค้ำประกันเงินฝากของประชาชนในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบการธนาคาร
การฟื้นตัวจากคลื่น Bank Run ของสหรัฐอเมริกา
หลังจากที่ แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 1933 เขาออกประกาศให้มีวันหยุดแก่ธนาคารทั่วประเทศ เพื่อใช้เวลาตรวจสอบสภาพคล่องของธนาคารแต่ละแห่ง ธนาคารที่ผ่านการตรวจสอบว่ามีสภาพคล่องเพียงพอก็จะสามารถกลับมาเปิดทำการได้ นอกจากนี้เขายังขอให้รัฐสภาสหรัฐออกกฎหมายธนาคารฉบับใหม่ เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินที่กำลังเผชิญวิกฤตด้วย
และหนึ่งในผลลัพธ์จากการแก้ไขวิกฤตในครั้งนั้น ก็คือการก่อตั้ง “Federal Deposit Insurance Corporation” หรือ FDIC ขึ้นมาในปี 1933 เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการประกันเงินฝากของลูกค้า ทาง FDIC มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบธนาคาร ด้วยการให้ความมั่นใจว่าหากธนาคารล้มละลาย ลูกค้าจะได้รับเงินฝากคืนตามจำนวนที่ประกันไว้แน่นอน
หากธนาคารมีเงินสดไม่พอ ธนาคารอาจยืมเงินจากธนาคารอื่นหรือต้องพึ่งพาธนาคารกลาง
มาตรการป้องกันการเกิด Bank Run
ในกรณีที่สถาบันการเงินเผชิญกับภัยคุกคามจาก Bank Run ทางสถาบันการเงินก็มักงัดเทคนิคต่าง ๆ ออกมาใช้เพื่อบรรเทาสถานการณ์ เช่น
1.การชะลอตัวทางการถอนเงิน
ธนาคารอาจชะลอการมาของ Bank Run ด้วยการทำให้กระบวนการถอนเงินช้าลง เช่น ในอดีต ธนาคารในสหรัฐใช้วิธีให้พนักงานหรือญาติของพนักงานมายืนต่อแถวถอนเงิน หรือมาทำธุรกรรมฝากเงินเล็กน้อยเพื่อชะลอเวลา
2. การกู้ยืมเงิน
หากธนาคารมีเงินสดไม่พอ ธนาคารอาจยืมเงินจากธนาคารอื่นหรือต้องพึ่งพาธนาคารกลาง ซึ่งมักทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้กู้สุดท้าย” เพื่อป้องกันการล้มละลายของธนาคารและลดผลกระทบต่อระบบการเงินโดยรวม
3. ประกันเงินฝาก
การประกันเงินฝากทำให้ผู้ฝากมั่นใจว่าพวกเขา จะได้รับเงินคืนตามวงเงินที่ประกันไว้หากธนาคารล้มละลาย
สรุป
Bank Run คือปรากฏการณ์ที่เกิดจากการสูญเสียความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน ที่มีต่อธนาคาร ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการถอนเงินจำนวนมากเกินกว่าที่ธนาคารจะมีสภาพคล่องพร้อมคืนได้ หากสถานการณ์ไม่สามารถควบคุมได้ อาจนำไปสู่การล้มละลายของธนาคารหรือวิกฤตการเงินที่รุนแรงตามมานั้นเอง
SOUREC :