Carry Trade คืออะไร

การทำ Carry Trade คือ กลยุทธ์ที่นักลงทุนจะทำการกู้ยืมเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพในการให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งกลยุทธ์นี้นิยมใช้กันมาก ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือ Forex

ซึ่งก็คือการกู้ยืมในสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ แล้วนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่อยู่ในสกุลเงินอื่น เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนั่นเอง ซึ่งกลยุทธ์นี้จะมีวิธีการวางหมากอย่างไร และมีข้อดี ข้อควรระวังอะไรบ้าง วันนี้เรานำความรู้ดี ๆ มาฝากนักลงทุนกันอีกเช่นเคย

ทำความรู้จักกับ Carry Trade แบบเจาะลึก

การเทรดแบบ Carry Trade คือ การหาผลกำไรจากความต่างของอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลาง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 2 สกุลเงิน ในการเทรดแบบ Carry Trade นักลงทุนจะกู้ยืมเงินในสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ (เรียกว่า Funding currency) แล้วนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงซึ่งอยู่ในสกุลเงินอื่น (เรียกว่า Target currency) เป้าหมายหลักคือการทำกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยและการเพิ่มมูลค่าของสกุลเงินที่ลงทุน

ตัวอย่างเช่น นักลงทุนอาจกู้ยืมเงินในสกุลเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่มีอัตราดอกเบี้ย 0.1% เพื่อนำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทน 4% หากอัตราแลกเปลี่ยนไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก นักลงทุนจะได้กำไรจากส่วนต่าง 3.9%

ในอดีตที่ผ่านมา สกุลเงินที่นิยมใช้เทรด Carry Trade คือ การกู้ยืมในสกุลเงินเยนญี่ปุ่นหรือฟรังก์สวิส (ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ) เพื่อนำไปลงทุนในสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ เปโซเม็กซิโก หรือดอลลาร์ออสเตรเลีย

แต่อย่างไรก็ตาม สกุลเงินที่เลือกใช้จะแตกต่างไปตามสภาวะเศรษฐกิจโลกและนโยบายการเงินในขณะนั้น ถึงแม้ว่านักลงทุนรายย่อยจะมีส่วนร่วมในการเทรดแบบ Carry Trade แต่กลยุทธ์นี้จะพบมากในหมู่นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ และเทรดเดอร์ฟอเร็กซ์ที่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้

จากความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้ Carry Trade เหมาะกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์มากกว่า

ตัวอย่างการเกิดปรากฏการณ์ Carry Trade ในช่วงปี 2000

ย้อนไปในช่วงปี 2000 มีการเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Yen Carry Trade” ขึ้นมา ด้วยอัตราดอกเบี้ยเกือบศูนย์ นักลงทุนจึงกู้ยืมในสกุลเงินเยนญี่ปุ่นซึ่งมีต้นทุนต่ำ และนำเงินนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในต่างประเทศ ซึ่งการเกิดปรากฏการณ์ Carry Trade ในช่วงนี้ มีการประเมินว่า คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของปริมาณการซื้อขายในตลาดสกุลเงินในแต่ละวัน

และจากการไหลของเงินทุนจำนวนมากนี้ จึงส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์ทั่วโลก สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดใดตลาดหนึ่ง สามารถส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วไปยังตลาดทั่วโลก

ด้วยอัตราดอกเบี้ยเกือบศูนย์ นักลงทุนจึงกู้ยืมในสกุลเงินเยนญี่ปุ่นซึ่งมีต้นทุนต่ำ และนำเงินนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในต่างประเทศ

ความเสี่ยงและข้อจำกัดของ Carry Trade

ความเสี่ยงหลักของ Carry Trade คือ “ความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยน” จากตัวอย่างที่เรายกมา หากดอลลาร์สหรัฐฯ มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับเยนญี่ปุ่น ผู้ค้าก็จะเสี่ยงต่อการขาดทุน และสถานการณ์นี้ก็เกิดขึ้นจริงมาแล้ว! ในช่วงกลางปี 2024 หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึงระดับที่ไม่เคยเห็นมากว่าทศวรรษ และเนื่องจาก Carry Trade มักเกี่ยวข้องกับการใช้เลเวอเรจที่สูง ดังนั้นการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดการขาดทุนอย่างมหาศาลได้ เว้นแต่ว่าจะมีการป้องกันความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่เราอยากย้ำเตือนก็คือ กลยุทธ์ Carry Trade ที่มีประสิทธิภาพไม่ได้หมายถึงเพียงการถือสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงและขายสกุลเงินที่มีผลตอบแทนต่ำเท่านั้น จริงอยู่ที่ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันจะมีความสำคัญ แต่ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต “สำคัญยิ่งกว่า” ตัวอย่างเช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ออสเตรเลีย หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลียหยุดการเพิ่มดอกเบี้ยแล้ว

นอกจากนี้ Carry Trade มักจะได้ผลดีเมื่อตลาดมีความมั่นใจหรือมีทัศนคติเชิงบวก ซึ่ง ความไม่แน่นอน ความกังวล และความกลัวอาจทำให้นักลงทุนปิด Carry Trade ได้

ในปี 2008 คู่เงินอย่าง AUD/JPY และ NZD/JPY สูญเสียมูลค่าไปถึง 45% อันเนื่องมาจากวิกฤตซับไพร์มที่กลายเป็นวิกฤตการเงินโลก วิกฤตนี้ทำให้นักลงทุนเริ่มย้ายเงินลงทุนจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า อย่างเงินเยนญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะ “สินทรัพย์ปลอดภัย” หรือ “safe haven” เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากในขณะนั้น และจากการย้ายเงินลงทุนนี้เองที่ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดฟอเร็กซ์และมูลค่าของคู่เงินอย่าง AUD/JPY และ NZD/JPY ที่อิงอัตราดอกเบี้ยสูง​

Carry Trade นิยมนำมาเทรดในตลาดฟอเร็กซ์ไหม?

Carry Trade เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดฟอเร็กซ์ นักลงทุนสามารถเริ่มต้น Carry Trade ได้ง่าย ๆ ด้วยการหาสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำและขายออกไป แล้วนำไปซื้อสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ผู้ค้าสามารถทำกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสองประเทศ ตราบใดที่อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสองสกุลเงินไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

Carry Trade มักเป็นที่นิยมในหมู่นักเทรดมืออาชีพ เพราะเลเวอเรจสามารถช่วยขยายกำไรที่อาจได้รับได้ ส่วนช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการทำ Carry Trade คือ เมื่อธนาคารกลางกำลังขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือกำลังพิจารณาจะขึ้นดอกเบี้ย จะช่วยดันมูลค่าของคู่สกุลเงินให้สูงขึ้น

การทำ Carry Trade เพื่อเก็บค่า Swap นี้ เป็นกลยุทธ์ในตลาดฟอเร็กซ์ที่นักลงทุนจะมุ่งเก็บผลประโยชน์จากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 2 สกุลเงินในคู่เงินเดียวกัน โดยมีวิธีดังนี้

1. เลือกคู่เงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่างกันมากที่สุด

เช่น คู่เงินที่มีสกุลเงินอัตราดอกเบี้ยสูง เทียบกับสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ การทำ Carry Trade จะได้กำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนี้ ตัวอย่างคือคู่ USD/JPY หรือ AUD/JPY ที่เงินเยนมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้นักเทรดอาจซื้อ USD หรือ AUD เพื่อรับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า​

2. ซื้อ (Long) สกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง และขาย (Short) สกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ

เมื่อคุณถือสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง จะได้รับค่า Swap เป็นบวกจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยทั้งสองสกุลเงิน ซึ่งเรียกว่า “Positive Carry”

เมื่อธนาคารกลางกำลังขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือกำลังพิจารณาจะขึ้นดอกเบี้ย จะช่วยดันมูลค่าของคู่สกุลเงินให้สูงขึ้น

สรุป

ถ้าจะใช้กลยุทธ์นี้ให้เวิร์ค ก็ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ที่แม่นยำของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย และการเปลี่ยนแปลงสกุลเงิน จึงทำให้เหมาะกับเทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์ในระดับสูง เพราะนักลงทุนจะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับตลาดฟอเร็กซ์และการจัดการความเสี่ยง

เพราะการเทรดแบบ Carry Trade อาจนำไปสู่การสูญเสียจำนวนมาก เมื่อสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงเป็นกลยุทธ์ที่มือใหม่ควรศึกษาเอาไว้ แต่ถ้าอยากลงสนามนี้ก็ต้องพิจารณาให้ดี หรือจะสั่งสมประสบการณ์ด้วยวิธีการเทรดรูปแบบอื่น ๆ ไปก่อนก็ได้

SOURCE :