M2 คือ “มาตรวัดปริมาณเงิน” ซึ่งได้รวมเอาทั้ง เงินสด เงินฝากเช็ค และ Near money หรือเงินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้แบบง่าย ๆ มาใช้ในการบ่งชี้วัดถึงปริมาณเงิน โดยที่นักเศรษฐศาสตร์จะใช้ตัวอักษร “M” ตามด้วยตัวเลขเพื่อระบุถึงสัดส่วนต่าง ๆ ของปริมาณเงิน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ M1 และ M2
โดยที่ M2 จะเป็นมาตรวัดที่กว้างกว่าของปริมาณเงิน เมื่อเทียบกับ M1 เพราะ M1 นี้จะรวมเอาเฉพาะเงินสดและเงินฝากเช็คเท่านั้น และมาตรวัดปริมาณเงิน M2 จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดปริมาณเงินและอัตราเงินเฟ้อในอนาคต รวมถึงใช้เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินของธนาคารกลางด้วย
การวัดปริมาณเงินที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อตรวจสอบสภาพคล่อง
การวัดปริมาณเงินที่มีอยู่ในเศรษฐกิจ จริง ๆ แล้วถูกแบ่งออกเป็นหลายประเภท ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเปลี่ยนสินทรัพย์ทางการเงินให้กลายเป็นเงินสดเพื่อซื้อสินค้าและบริการนั่นเอง ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า “สภาพคล่อง” ยิ่งสินทรัพย์มีความสามารถในการเปลี่ยนเป็นเงินสดได้รวดเร็วเท่าไหร่ สภาพคล่องก็จะยิ่งสูงขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น เงินสดที่มีอยู่ในกระเป๋าของคุณสามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทันที ทำให้มีสภาพคล่องสูง แต่ถ้าเป็นเงินที่เก็บเอาไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ฝากไว้กับธนาคาร คุณก็จะต้องไปถอนเงินออกมาก่อน ถึงจะสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าได้ ก็หมายความว่าเงินในบัญชีออมทรัพย์มีสภาพคล่องต่ำกว่านั่นเอง
เจาะลึกทำความรู้จักกับ มาตรวัดปริมาณเงิน M1 และ M2
ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve Bank) ได้กำหนดปริมาณเงินตามระดับของสภาพคล่อง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ M1 และ M2
มาตรวัดปริมาณเงิน M1 ได้รวมเอาสกุลเงิน เงินฝากที่สามารถเบิกได้ทันที เงินฝากเช็ค เช็คหรือบัตรเดบิต รวมถึงตราสารเงินท่องเที่ยว เอาไว้ใน M1 นี้
M1 คือ ปริมาณเงินที่มีสภาพคล่องสูง
มาตรวัดปริมาณเงิน M1 จะรวมเอาสกุลเงิน (ทั้งเงินเหรียญและธนบัตร) ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มาใช้ในการชี้วัด แต่จะไม่นับรวมเงินที่ถูกเก็บไว้ในธนาคารกลางสหรัฐ หรือในคลังของธนาคาร นอกจากนี้ M1 ยังรวมถึงเงินฝากที่สามารถเบิกได้ทันที (demand deposits) หรือที่รู้จักกันในชื่อเงินฝากเช็ค (checkable deposits) ซึ่งเป็นเงินที่สามารถถอนออกได้ตามความต้องการเมื่อมีการใช้เช็คหรือบัตรเดบิต เอาไว้ด้วย และรวมถึงตราสารเงินท่องเที่ยว (traveler’s checks) ก็ยังคงรวมอยู่ใน M1
M2 มาตรวัดปริมาณเงินที่มีการขยายตัวจาก M1 เช่น เงินฝากออมทรัพย์ บัญชีตลาดเงิน และใบรับฝากเงินระยะสั้น
M2 ปริมาณเงินที่กว้างขึ้นแต่มีสภาพคล่องต่ำกว่า
M2 เป็นมาตรวัดปริมาณเงินที่มีการขยายตัวจาก M1 โดยเพิ่มสินทรัพย์ทางการเงินที่มีสภาพคล่องน้อยกว่าเข้ามา เช่น เงินฝากออมทรัพย์ บัญชีตลาดเงิน (money market funds) และใบรับฝากเงินระยะสั้น (certificates of deposit หรือ CDs) ที่มีมูลค่าน้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นบัญชีที่ผู้ฝากตกลงที่จะเก็บเงินไว้ในธนาคารในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
แม้สินทรัพย์ใน M2 จะไม่สามารถเบิกใช้เป็นเงินสดได้ทันที แต่ก็ยังสามารถถอนออกมาได้ (แม้จะใช้เวลามากกว่าสินทรัพย์ใน M1 สักหน่อย) จึงทำให้สินทรัพย์ใน M2 นี้มีสภาพคล่องน้อยกว่า โดยในกรณีของ M2 การถอนเงินอาจต้องใช้เวลาและต้องผ่านวิธีการต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การถอนจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือบัญชีตลาดเงิน
ความสัมพันธ์ระหว่าง M1 และ M2
M1 เป็นส่วนหนึ่งของ M2 ดังนั้น M2 จึงรวมถึงสินทรัพย์ที่อยู่ใน M1 บวกกับเงินฝากออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน และใบรับฝากเงิน นอกจากนี้ Federal Reserve System หรือ เฟด ยังมีหน้าที่ติดตามปริมาณเงินใน M1 และ M2 และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณเงินเหล่านี้ในรูปแบบรายสัปดาห์ด้วย
ตัวอย่างเช่น ณ สิ้นปี 2012 ปริมาณ M1 ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ M2 อยู่ที่ 10.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และในขณะเดียวกัน ขนาดของ GDP สหรัฐฯ ในปี 2012 อยู่ที่ 16.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
Federal Reserve System หรือ เฟด มีหน้าที่ติดตามปริมาณเงินใน M1 และ M2 และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณเงินเหล่านี้ในรูปแบบรายสัปดาห์
ความสำคัญของ M1 และ M2 ที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
การทำความเข้าใจกับมาตรวัดปริมาณเงิน M1 และ M2 มีความสำคัญอย่างมาก ต่อการวิเคราะห์และติดตามเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากปริมาณเงินที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจจะสามารถบ่งบอกถึงภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ และยังช่วยคาดการณ์แนวโน้มทางเศรษฐกิจในอนาคตได้
และทางธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) เอง ก็ใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการดำเนินนโยบายการเงิน เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยหรือการเพิ่มหรือลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นั่นเอง
- M1 กับสภาพคล่องสูง ด้วยความที่ M1 ได้รวมเอาเงินสดและเงินที่สามารถเบิกถอนได้ทันที ดังนั้น M1 จึงบ่งบอกถึงเงินที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในระบบเศรษฐกิจ เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของ M1 อาจหมายถึงว่าผู้คนมีเงินสดหรือเงินฝากในบัญชีเช็คมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้จ่ายและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
- M2 กับสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำกว่า M2 จะรวมเอาเงินที่อาจไม่สามารถใช้จ่ายได้ทันที แต่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ง่ายพอสมควร เช่น เงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนตลาดเงิน เมื่อปริมาณ M2 เพิ่มขึ้น อาจบ่งบอกถึงการสะสมเงินในรูปแบบของการออมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนถึงความระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคและอาจชี้ให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตที่ช้าลง
M1 M2 และการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ เมื่อธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็มักจะทำให้มีการกู้ยืมเงินและการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมลดลง ผู้คนก็จะนำเงินไปลงทุนหรือใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ M1 และ M2 เพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม หากธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเป็นการชะลอการกู้ยืมและลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะลดปริมาณ M1 และ M2 ลงตามไปด้วย
เมื่อมีเงินในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ปริมาณสินค้าและบริการในระบบไม่เพิ่มขึ้นตาม มูลค่าของเงินอาจลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
M2 กับความเสี่ยงของการเกิดเงินเฟ้อ
การเพิ่มขึ้นของ M2 ที่ไม่สอดคล้องกับการเติบโตของผลผลิตทางเศรษฐกิจ อาจส่งผลทำให้ “อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น” อธิบายก็คือ เมื่อมีเงินในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ปริมาณสินค้าและบริการในระบบไม่เพิ่มขึ้นตาม มูลค่าของเงินอาจลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ธนาคารกลางต้องติดตาม M2 อย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนหาทางควบคุมเงินเฟ้อ
แต่ในทางกลับกัน ถ้าปริมาณ M2 ลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือแม้กระทั่งเกิดภาวะถดถอยได้ เนื่องจากผู้คนก็อาจเก็บออมมากขึ้นและลดการใช้จ่ายลง
สรุป
M1 และ M2 ต่างก็เป็นมาตรวัดสำคัญในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ และมีบทบาทสำคัญในนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ดังนั้นการทำความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่าง M1 M2 และสภาพคล่องของสินทรัพย์ทางการเงิน ก็จะทำให้เราสามารถคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภค การประเมินความเสี่ยงของเงินเฟ้อ หรือการวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต ก็ตาม
SOURCE :