การเทรดแบบโมเมนตัม หรือ Momentum Trading เป็นกลยุทธ์การเทรด ที่นักลงทุนจะซื้อหลักทรัพย์ที่ราคากำลังเพิ่มขึ้นและจะทำการขายออกเมื่อราคาดูเหมือนจะถึงจุดสูงสุดแล้ว เป้าหมายของการเทรดรูปแบบนี้คือ การใช้ประโยชน์จากความผันผวน โดยการหาจังหวะซื้อในช่วงแนวโน้มขาขึ้นระยะสั้น และขายเมื่อหลักทรัพย์เริ่มสูญเสียแรงส่ง
หลังจากนั้น นักลงทุนก็จะนำเงินสดไปหาจังหวะซื้อในแนวโน้มขาขึ้นระยะสั้น หรือหาโอกาสซื้อในครั้งต่อไป เทรดเดอร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเทรดแบบโมเมนตัม จะวิเคราะห์ได้ว่าควรเข้าซื้อเมื่อใด ควรถือนานเท่าใด และควรออกเมื่อใด รวมถึงมีสามารถตอบสนองต่อการขึ้นลงของราคาที่เกิดจากข่าวระยะสั้นได้ด้วย
หลักการเทรดแบบ Momentum Trading คืออะไร?
การเทรดแบบโมเมนตัม หรือ Momentum Trading เป็นการเทรดที่อาศัยหลักการ “การตามคนหมู่มาก” ซึ่งหมายความว่านักลงทุนจะเลียนแบบพฤติกรรมของนักลงทุนคนอื่น ๆ ทำให้ปัจจัยสำคัญ 2 อย่างที่กำหนดว่าการเทรดแบบโมเมนตัมจะได้ผลหรือไม่ก็คือ ปริมาณการซื้อขาย (Volume) และความผันผวน (Volatility) ปริมาณการซื้อขายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเทรดด้วยกลยุทธ์นี้ เพราะต้องเช็กให้ชัวร์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมในตลาดเพียงพอที่จะรับตำแหน่งตรงข้ามกับการเทรดของเรา
ดังนั้น เมื่อเริ่มวางแผนกลยุทธ์แบบโมเมนตัม เทรดเดอร์จำเป็นต้องเช็กช่วงเวลาที่ตลาดของเรามีปริมาณการซื้อขายสูงสุด นอกจากนี้ การเทรดแบบโมเมนตัมยังอิงจากแนวคิดที่ว่า “ความผันผวนเป็นสิ่งที่ดี” เพราะเทรดเดอร์สามารถหาโอกาสจากการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ได้ ดังนั้น แทนที่จะซื้อและถือสถานะไว้นาน นักเทรดแบบโมเมนตัมมักจะถือสถานะเพียงตราบเท่าที่ตลาดยังไม่แสดงสัญญาณการกลับทิศทางเมื่อแรงขับเคลื่อนเริ่มอ่อนตัวลงและเปลี่ยนทิศทาง
แต่อย่างไรก็ตาม การเทรดแบบโมเมนตัมไม่ได้เหมาะกับนักเทรดระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากแนวโน้มอาจมีแรงสนับสนุนและคงอยู่เป็นเวลานาน ทำให้เป็นทางเลือกในการเทรดสำหรับนักเทรดรายวันและนักเทรดระยะยาวด้วย
ความเสี่ยงแบบโมเมนตัม มีความเสี่ยง คือ การเข้าสถานะเร็วเกินไป การปิดสถานะช้าเกินไป และการพลาดแนวโน้มสำคัญ
การเทรดแบบโมเมนตัมในตลาดฟอเร็กซ์
อย่างที่รู้ ๆ กันว่า ตลาดฟอเร็กซ์มีความผันผวนอย่างมากและมีสภาพคล่องสูง เนื่องจากมีนักลงทุนลงสนามจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นเทรดเดอร์ทั่วไป สถาบันการเงิน หรือธนาคาร ทำให้โมเมนตัมและแนวโน้มในตลาดฟอเร็กซ์ มักจะปรากฏอย่างชัดเจนในช่วงที่มีการประกาศข้อมูลสำคัญ เช่น เสนอดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เผยตัวเลขการจ้างงาน การแจกแจงยอดค้าปลีก รวมถึงประกาศจากธนาคารกลาง
ตัวชี้วัดโมเมนตัมที่ดีที่สุด
ใน FOREX มีตัวชี้วัดหลายประเภทที่จะทำให้เทรดเดอร์ นำมาวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของแนวโน้มได้ รวมถึงการศึกษารูปแบบกราฟที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของตลาดด้วย เอาละ มาดูตัวชี้วัดที่นิยมใช้โดยนักเทรดแบบโมเมนตัมกันเลย
1.RSI (ดัชนีความแข็งแกร่งสัมพัทธ์)
RSI เป็นตัวชี้วัดที่ใช้บ่อยที่สุดในการเทรดแบบโมเมนตัม ช่วยคาดการณ์ทิศทางของตลาดในอนาคต และประเมินว่าโมเมนตัมกำลังเร่งขึ้นหรือลดลง ตัวชี้วัดนี้มีช่วงระหว่าง 0 – 100 โดยเมื่อ RSI สูงกว่า 70 แสดงถึงการซื้อมากเกินไป และเมื่อ RSI ต่ำกว่า 30 แสดงถึงการขายมากเกินไป เทรดเดอร์สามารถใช้ระดับเหล่านี้เพื่อหาแนวโน้มที่ชัดเจน และเปิดสถานะเมื่อแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวจากระดับเหล่านี้ได้
2. Stochastic Oscillator (สโตแคสติก ออสซิลเลเตอร์)
สโตแคสติก ออสซิลเลเตอร์ ใช้ในการเปรียบเทียบราคาปิดล่าสุดกับช่วงการซื้อขายก่อนหน้า ช่วยระบุความเร็วและความแข็งแกร่งของแนวโน้มในช่วงระยะเวลาที่กำหนด คล้ายกับ RSI โดยสโตแคสติกจะมีตัวชี้วัดที่แกว่งอยู่ระหว่าง 0 – 100 โดยค่าเกิน 80 หมายถึงการซื้อมากเกินไป และค่าต่ำกว่า 20 หมายถึงการขายมากเกินไป นอกจากนี้ สโตแคสติกยังมีเส้นสัญญาณ เมื่อเส้นสัญญาณและเส้นตัวชี้วัดตัดกัน จะเป็นสัญญาณว่าตลาดอาจเปลี่ยนทิศทางด้วย
สโตแคสติกจะมีตัวชี้วัดที่แกว่งอยู่ระหว่าง 0 – 100 โดยค่าเกิน 80 หมายถึงการซื้อมากเกินไป และค่าต่ำกว่า 20 หมายถึงการขายมากเกินไป
3. Moving Averages (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่)
ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ช่วยระบุแนวโน้มราคาด้วยการลดความผันผวนของราคาและกรองสัญญาณรบกวนจากการเปลี่ยนแปลงระยะสั้น ค่า MA สามารถใช้กับช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้เหมาะสำหรับกลยุทธ์ทั้งระยะยาวและระยะสั้น เมื่อราคาตลาดปิดเหนือค่า MA จะบ่งชี้แนวโน้มขาขึ้นและเป็นสัญญาณซื้อ ในทางกลับกัน เมื่อราคาตลาดปิดต่ำกว่าค่า MA จะบ่งชี้แนวโน้มขาลงและเป็นสัญญาณขาย
นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เร็วและช้าในการทำกลยุทธ์ตัดกัน (Crossover Strategy) เมื่อตัวชี้วัดเคลื่อนที่ระยะสั้นตัดขึ้นเหนือระยะยาว แสดงถึงแนวโน้มขาขึ้น ในทางกลับกัน หากตัวชี้วัดระยะสั้นตัดลงต่ำกว่าระยะยาว ตลาดจะแสดงแนวโน้มขาลง
4. รูปแบบธง (Flag Patterns)
สามารถใช้ในการประเมินว่าแนวโน้มยังคงมีแรงขับเคลื่อนอยู่หรือไม่ โดยที่ Bull Flag (ธงขาขึ้น) เป็นรูปแบบที่บ่งบอกถึงแนวโน้มขาขึ้น โดยเกิดจากการเคลื่อนที่ของราคาสองครั้งที่มีการหยุดพักสั้น ๆ ตรงกลางระหว่างเส้นแนวรับและแนวต้าน การเคลื่อนที่ครั้งแรกเรียกว่า “เสาธง” และการดึงกลับระหว่างเส้นแนวโน้มเรียกว่า “ธง” ซึ่งตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของราคาที่ทะลุแนวต้านไปต่อ รูปแบบนี้แสดงว่าตลาดยังคงมีการสนับสนุนสำหรับแนวโน้มขาขึ้น เนื่องจากการดึงกลับไม่เปลี่ยนเป็นการกลับตัว แสดงให้เห็นว่าฝั่งขาขึ้นยังคงควบคุมตลาดและดันราคาขึ้นไปอีก
Bear Flag (ธงขาลง) ตรงกันข้ามเลย สิ่งนี้จะบ่งบอกว่าแนวโน้มขาลงยังคงมีแรงขับเคลื่อนอยู่ แม้ว่าจะมีช่วงสั้น ๆ ที่ราคาปรับตัวขึ้นระหว่างแนวรับและแนวต้าน รูปแบบกราฟเหล่านี้ชี้จุดเข้าเทรดที่สำคัญให้แก่เทรดเดอร์ในแนวโน้มที่มีโมเมนตัมต่อเนื่อง โดยจุดเข้าเทรดจะเป็นแท่งเทียนแรกที่เกิดขึ้นในช่วง breakout และสำหรับ Bull Flag จะเป็นแท่งเทียนเขียวแท่งแรกที่เทรดเหนือระดับแนวต้าน และในกรณี Bear Flag จะเป็นแท่งเทียนแดงแท่งแรกที่เกิดต่ำกว่าระดับแนวรับ
นอกจากนี้ การตั้งคำสั่ง stop-loss ยังเป็นแนวทางที่ดีเพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่ตลาดไม่เคลื่อนไหวในทิศทางที่คุณคาดการณ์อีกด้วย
การเคลื่อนที่ครั้งแรกจะเรียกว่า “เสาธง” และการดึงกลับระหว่างเส้นแนวโน้มเรียกว่า “ธง” ซึ่งตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของราคาที่ทะลุแนวต้านไปต่อ
ความเสี่ยงที่เทรดเดอร์ต้องระวัง จากการเทรดแบบโมเมนตัม
แม้ว่าการเทรดแบบโมเมนตัมจะสามารถสร้างกำไรได้ แต่ก็มีความเสี่ยงหลายด้านที่คุณต้องพิจารณา ดังนี้
1. ความเสี่ยงจากการกลับทิศทาง
การเทรดแบบโมเมนตัมอิงจากสมมติฐานว่าการเคลื่อนไหวของราคาล่าสุดจะดำเนินต่อไปในทิศทางเดิม แต่มีความเสี่ยงเสมอที่แนวโน้มจะกลับทิศทาง ทำให้เทรดเดอร์ที่อยู่ในฝั่งผิดของการเทรดเกิดการขาดทุน
2. ความเสี่ยงจากการซื้อมากเกินไป/ขายมากเกินไป
การเทรดแบบโมเมนตัมอาจทำให้สินทรัพย์มีภาวะซื้อมากเกินไปหรือขายมากเกินไป ซึ่งหมายความว่าราคาอาจจะสูงหรือต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง สิ่งนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการปรับราคาที่อาจทำให้นักเทรดเกิดการขาดทุนได้
3. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
นักเทรดระบบโมเมนตัมมักจะเปิดสถานะขนาดใหญ่ในสินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนไหวของราคาที่แข็งแกร่ง แต่สิ่งนี้อาจสร้างความเสี่ยงด้านสภาพคล่องได้ เนื่องจากอาจทำให้การเข้าสู่หรือออกจากการเทรดในราคาที่ต้องการทำได้ยากขึ้น ทำให้เกิด slippage และต้นทุนการเทรดที่สูงขึ้น
4. ความเสี่ยงจากสัญญาณผิดพลาด
การเทรดแบบโมเมนตัมมีความเสี่ยงจากการรับสัญญาณผิดพลาด หมายถึงการเคลื่อนไหวของราคาอาจไม่ได้สะท้อนถึงแนวโน้มของตลาดที่แท้จริง ซึ่งอาจทำให้นักเทรดเปิดสถานะที่ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มหลัก ส่งผลให้เกิดการขาดทุน
5. ความเสี่ยงจากความผันผวน
การเทรดแบบโมเมนตัมอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาด ซึ่งทำให้ยากต่อการคาดการณ์การเคลื่อนไหวของราคาและเพิ่มความเสี่ยงของการแกว่งตัวของราคาที่รุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดทุน
สรุป
ดังนั้นเทรดเดอร์จึงควรจัดการความเสี่ยงเหล่านี้อย่างระมัดระวัง เมื่อใช้กลยุทธ์การเทรดแบบโมเมนตัม เช่น การตั้งคำสั่ง stop-loss การจัดการขนาดของตำแหน่งให้เหมาะสม และการติดตามข่าวสารของตลาดและระดับความผันผวน นอกจากนี้ นักเทรดควรใช้ตัวชี้วัดทางเทคนิคและเครื่องมือการวิเคราะห์อื่น ๆ เพื่อยืนยันความถูกต้องของสัญญาณโมเมนตัมก่อนเปิดตำแหน่งด้วย
SOURCE
- https://www.forex.com/en/news-and-analysis/a-guide-to-momentum-trading-and-indicators/
- https://www.cmcmarkets.com/en/trading-guides/momentum-trading
- https://www.investopedia.com/trading/introduction-to-momentum-trading/